เกร็ดความรู้ 9 ข้อของซากุระที่หลายคนยังไม่รู้


1156 Views

  พุธที่ 13 มกราคม 2564

ตอนนี้ก็เข้าสู่ช่วงเวลาของการชมซากุระอย่างเป็นทางการกันแล้วนะครับ! เชื่อว่าหลายๆคนคงเตรียมตัวเก็บกระเป๋าไปเที่ยวญี่ปุ่นตอนสงกรานต์เป็นแน่แท้! เพราะอีกไม่นานซากุระสีขาวก็จะบานกันเต็มเกาะอาทิตย์อุทัยแห่งนี้กันแล้วล่ะครับ ว่าแล้ววันนี้โอทารุก็เลยอยากจะมาเขียนเรื่องเกร็ดความรู้เกี่ยวกับซากุระที่ผมคิดว่าหลายๆท่านอาจจะยังไม่ทราบก็เป็นได้ เอาเป็นว่า เข้าเรื่องกันเลยครับ!

เพื่อความง่ายในการอ่านของเพื่อนๆ บล็อกนี้ผมจะแบ่งเป็นข้อๆนะครับจะได้สบายตา

1. ซากุระมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Cherry Blossom
สำหรับบ้านเราจะใช้เรียกทับศัพท์ไปเลยว่า ซากุระ แต่บางทีฝรั่งที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นเขาจะงงกับคำว่า Sakura ครับ เพราะประเทศทางตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา/แคนาดา จะใช้คำว่า Cherry Blossom เป็นคำทางการแทน ส่วน Sakura จะเหมือนภาษาพูดมากกว่า (ขณะที่บ้านเรามีน้อยคนที่จะเรียก Cherry Blossom)

2. ซากุระไม่ได้มีแค่ในญี่ปุ่น
จริงๆแล้วต้นซากุระสามารถขึ้นได้ในหลายประเทศไม่ใช่เฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้นครับ สำหรับประเทศที่มีซากุระให้ดูและชาวไทยคุ้นเคยก็คือ ไต้หวัน เกาหลี จีน อินเดีย ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ตุรกี อังกฤษ รวมไปถึงบราซิล!

3. คนญี่ปุ่นไม่นิยมปลูกซากุระไว้ในบ้าน
ที่คนไม่นิยมปลูกต้นซากุระในบริเวณบ้านในสมัยปัจจุบันนี้ก็เพราะซากุระเป็นพืชประหลาดชนิดหนึ่ง คือในฤดูร้อนมันจะดูดเก็บสะสมสารอาหารไว้ให้มากที่สุดเพื่่อที่จะบานอย่างเต็มที่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆแค่อาทิตย์กว่าๆ ดังนั้นในฤดูร้อนเปลือกลำต้นและใบของมันจะมีความหอมหวานอร่อยเคลือบเต็มทั้งต้น มันจึงเป็นที่โปรดปรานของพวกแมลงและตัวหนอนต่างๆมากมายและใครที่รู้จักชาวญี่ปุ่นดี ก็จะเข้าใจว่าคนชาตินี้เกลียดและกลัวแมลงเข้าบ้านขนาดไหน!!!!
นอกจากนี้ยังมีเหตุผลปลีกย่อยอีกครับ เช่น มันเป็นพืชรากตื้นไม่แข็งแรง ต้านทานลมพายุก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่ (เวลาพายุมาที่ญี่ปุ่นนี่ไม่เหมือนเมืองไทยนะครับ ลมแรงมากจนเครื่องบินไม่กล้าบินขึ้นกันเลยทีเดียว บ้านเรามีน้อยมากๆครับ แต่ที่ญี่ปุ่นนี่ฤดูมรสุมของเขาโหดจริง) ดังนั้นถ้าเจอพายุแรงมากๆ ก็มีสิทธิ์โค่นลงมาได้ครับ! แต่ที่กล่าวมานั้นไม่ได้แปลว่าจะไม่มีคนญี่ปุ่นปลูกซากุระในบ้านนะครับ เศรษฐีบางคนที่มีพื้นที่มากๆ เขาก็ปลูกไว้ชมซากุระหลังบ้านเองก็มี (ก็มีเงินบำรุงรักษา+กำจัดแมลงอ่ะนะ) เพียงแค่กลุ่มเศรษฐีที่ว่ามานี้ก็มีเพียงหยิบมือแหละครับ ที่เหลือปกติทั่วไปก็ไปชมตามสวนสาธารณะหรือสถานที่ต่างๆนอกบ้านกันเกือบทั้งประเทศนั่นแหละครับ

4. ประเพณีการชมซากุระมีมาตั้งแต่สมัยโบราณเกินพันปีแล้ว
การชมซากุระสามารถสืบค้นไปได้ถึงสมัยนาระโน่นเลย(ราวๆ 1400 ปีก่อนหน้านี้) โดยในสมัยก่อนนั้นราชสำนักญี่ปุ่นได้รับเอาประเพณีชอมดอกไม้นี้มาจากเมืองจีน เพียงแต่ในสมัยนั้นคำว่าชมดอกไม้ ยังไม่ได้หมายถึงการชมดอกซากุระ แต่มันคือการชม ดอกบ๊วย ตามประเพณีของชาวจีนครับ
พูดถึงการชมดอกบ๊วยในสมัยก่อนนั้น ชาวญี่ปุ่นก็จะชมจากในบ้านหรือในปราสาทราชวังแบบเงียบๆ เรียบง่ายคล้ายๆกับการนั่งชมสวนและทำสมาธิแบบนิกายเซ็นนั่นล่ะครับ จวบจนเข้าสู่สมัยเฮอันได้เกิดการก่อกบฏและเกิดความวุ่นวายขึ้นในราชวงศ์ถัง ชาวญี่ปุ่นจึงได้หยุดการติดต่อและตัดความสัมพันธ์กับราชวงศ์ถังในที่สุด ซึ่งก็หมายความว่าญี่ปุ่นไม่ได้มีสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่หลังจากนั้นเป็นต้นมา และต่อมาชาวญี่ปุ่นก็หันมาชมดอกซากุระแทน
เวลาล่วงเลยมาถึงยุคเซนโกกุ (ยุคขุนศึกช่วงปี ค.ศ. 1467-1603) ในสมัยของท่านโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ท่านได้ริเริ่มนำข้าราชบริพารกว่าหนึ่งพันคนออกมาชมดอกซากุระบานอย่างสนุกสนานรื่นเริงที่วัดไดโกะจิ เมืองเกียวโต นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาประเพณีการออกมาชมดอกซากุระบานและร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนานรื่นเริงใต้ต้นซากุระก็ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
สำหรับประวัติความเป็นมาของสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) มีกล่าวไว้ว่าโชกุนโตกุกาวะ โยชิมุเนะ โชกุนลำดับ 8 แห่งตระกูลโตกุกาวะ ได้มีความคิดริเริ่มปลูกต้นซากุระขึ้นเพื่อให้ชาวเมืองได้ชมดอกไม้อย่างมีความสุขที่สวนสาธารณะอาสึกะ เขตคิตะโอจิ โดยท่านได้ลงมือปลูกต้นซากุระสายพันธุ์โซเมย์ โยชิโนะ (Somei Yoshino) ด้วยตัวท่านเองหลายต้นและท่านได้สั่งให้ปลูกต้นซากุระรวมทั้งหมดถึง 1,270 ต้นเลยทีเดียว และเมื่อฤดูดอกซากุระบานมาถึง ท่านโชกุนและข้าราชบริพารต่างก็พากันออกมาชมดอกไม้และร้องรำทำเพลงรวมทั้งเล่นดนตรี มีทั้งพิณซะมิเซ็งและตีกลองร้องเพลงอย่างสนุกสนานจนกลายมาเป็นประเพณีฮานะมิดังเช่นทุกวันนี้ในที่สุด

5. รากศัพท์ของคำว่า ซากุระ กับ ฮานะมิ มีที่มาที่น่าสนใจ
คำว่า ซากุระ มาจากคำว่า ( 咲 ) ซากุ แปลว่า บาน แล้วมีคำว่า ระ มาต่อท้ายเพื่อให้ออกเสียงสัมผัสที่นุ่มนวลและสวยงาม
ในสมัยโบราณนานมาแล้วชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อตามตำนานว่า มีเทพเจ้าแห่งการเพาะปลูกนามว่า เทพธิดาซากะมิ (サ神) ซึ่งเป็นเทพธิดาผู้เลอโฉมผู้ซึ่งลงมาจากสวรรค์ 〜 座 (คุระ) พระนางมีผิวพรรณเป็นสีชมพูเหมือนกลีบดอกซากุระ และได้รับการกล่าวขายในความงดงามยิ่งนัก พระนางจะลงมาสิงสถิตย์อยู่ในต้นซากุระในฤดูเพาะปลูกและมีหน้าที่คอยปกป้องดูแลผลผลิตให้กับชาวนา ดังนั้นชาวนาญี่ปุ่นจึงนิยมปลูกต้นซากุระบนที่นาของตัวเองแล้วทำพิธีเซ่นไหว้ก่อนถึงฤดูเพาะปลูกซึ่งก็ตรงกับฤดูดอกซากุระบานพอดี ชื่อของดอกไม้ชนิดนี้จึงกลายมาเป็น ซากุระ ( 桜 ) โดยใช้ตัวอักษรคันจิ คำว่า หญิงสาวยืนอยู่ข้างต้นไม้ที่มีเกสรร่วงหล่นลงมา
ความเชื่อนี้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันว่า ถ้าทานอาหารใต้ต้นซากุระแล้วมีเกสรของดอกซากุระร่วงหล่นมาสัมผัสกับอาหารจะมีความโชคดี มีสุขภาพดีและอุดมสมบูรณ์ไปตลอดทั้งปี และต่อมาความเชื่อนี้ก็กลายมาเป็นประเพณีชมดอกซากุระบานและกินอาหาร ร้องรำทำเพลงใต้ต้นซากุระ ซึ่งนั่นก็คือประเพณี ฮานะมิ ( 花見 ) จวบจนถึงทุกวันนี้นั่นเองครับ!

6. สมัยก่อนซากุระ นิยมปลูกในวัดหรือสุสาน
ตั้งแต่สมัยเซนโกกุ (สมัยขุนศึกชิงอำนาจกันเอง) ต่อเนื่องมาเรื่อยๆจนถึงสมัยเอโดะตอนต้น ชาวญี่ปุ่นนิยมปลูกต้นซากุระบนหลุมศพผู้ตาย/ผู้ซึ่งเป็นญาติและผู้เป็นที่รัก ดังนั้นความเชื่อโบราณของชาวญี่ปุ่นก็คือ ซากุระเป็นดอกไม้ที่สื่อถึงความโศกเศร้าและความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิต เพราะชีวิตมนุษย์นั้นแสนสั้นนัก ดังนั้นเราจึงไม่ควรประมาทในชีวิตและจะทำสิ่งใดก็อย่าผลัดวันประกันพรุ่งนั่นเองครับ!
ทว่าในปัจจุบัน หลายๆวัดหรือสุสานก็ได้กลายมาเป็นที่ชมซากุระแบบเงียบสงบไปโดยปริยาย ส่วนความน่ากลัวนั้น ตัวผมเองเคยดูซากุระในสุสานก็ขอบอกว่า ไม่น่ากลัวแม้แต่น้อยครับ แถมคนไม่เยอะอีกต่างหาก ถ้าชอบเงียบๆก็ชมได้ครับ ไม่ได้วังเวงมากมาย

7. ซากุระไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่าจะบานวันไหน
ปกติแล้วซากุระจะบานไม่ค่อยตรงกันในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับสถาพอากาศในปีนั้น บวกกับปัจจัยต่างๆ เช่น ภาวะโลกร้อน หรือพายุที่เคลื่อนตัวเข้ามาที่ญี่ปุ่นด้วยครับ นอกจากนี้แต่ละพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่นนั้น ช่วงเวลาของซากุระก็จะบานช้าเร็วต่างกันด้วย อย่างเช่น หมู่เกาะโอกินาวะที่ชาวไทยเริ่มรู้จักนั้น ซากุระบานตั้งแต่เดือนมกราคมแล้ว ขณะที่ในโตเกียว กว่าจะบานก็ล่อไปปลายเดือนมีนาคมโน่นแหละครับ

8. สายพันธุ์ที่พบเจอง่ายที่สุด คือ Somei Yoshino (สีขาว) และเป็นตัวแทนของฤดูกาลชมซากุระด้วย
จริงๆแล้วหลายคนอาจจะบอกว่า เฮ้ย! ก็ซากุระมันบานตั้งแต่กุมภาพันธ์แล้วนี่ สีชมพูสวยงามไง ที่ Kawazu หรือที่ Ueno ก็เห็น ใช่ครับ นั่นแหละซากุระ แต่เรื่องที่หลายคนยังไม่ทราบคือ ซากุระสีชมพูที่เห็นนั้นเป็นสายพันธุ์อื่น ส่วนสายพันธุ์ที่คนญี่ปุ่นจัดให้เป็นตัวแทนของฤดูกาลชมซากุระคือ สายพันธุ์ Somei Yoshino ซึ่งมีสีขาว ส่วนต้นที่ได้รับการกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดฤดูกาลที่ว่าก็คือ ต้นซากุระที่ศาลเจ้ายาสุกุนิ กรุงโตเกียว เมื่อไหร่ที่ซากุระสายพันธุ์สีขาวเริ่มออกดอก ก็จะถือว่าฤดูกาลชมซากุระได้เริ่มอย่างเป็นทางการ! (แต่คนส่วนใหญ่ก็ชมกันไปตั้งนานแล้ว ไม่รอแบบทางการหรอกครับ)
ปกติต้นซากุระที่ศาลเจ้ายาสุกุนิจะบานในช่วงปลายมีนาคม-ต้นเมษายนของทุกปีครับ แต่ระยะหลังๆ สงสัยโลกร้อนกระมัง มาปีนี้ (2017) เจ้า Somei Yoshino ต้นนี้ก็ออกดอกตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมาแล้วล่ะ! ซึ่งการบานในปีนี้ถือว่าพลิกสถิติมากๆ เพราะเร็วกว่าค่าเฉลี่ยถึง 5 วันและบานแซงหน้าหลายๆเมืองในญี่ปุ่นในรอบ 9 ปีเลยทีเดียว

9. ดอกของซากุระนั้น กินได้
หลายๆคนอาจคิดว่าซากุระดีแต่สวยงาม แต่จริงๆมันทานได้ด้วยนะครับ โดยส่วนที่ทานได้ของซากุระ ก็คือ ดอกและใบของมันนั่นเอง! โดยดอกและใบของมันสามารถนำมาทำเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มได้หลายประเภทด้วยล่ะ ผมขอยกตัวอย่างที่คิดว่าเพื่อนๆน่าจะลองทานได้นะ เช่น ซากุระดองเกลือ (Sakura Shioduke) หรือ ชารสซากุระ (Sakurayu) หรือจะทานขนมญี่ปุ่นที่ชื่อว่า ซากุระโมจิ (Sakura Mochi) ก็ได้ โดยซากุระโมจิที่จะห่อด้วยใบจากต้นซากุระ ซึ่งรสชาติหวานของโมจินั้นจะตัดกับใบซากุระที่มีรสเค็มพอดีครับ นอกจากนี้ยังมีซากุระมันจู (Sakura manjuu) ซึ่งมีลักษณะคล้ายโมจิ แต่จะเป็นก้อนกลมใหญ่โรยด้วยเกลือที่ได้จากซากุระด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีขนมหวานแปรรูปรสซากุระอีกมากมายที่ชาวญี่ปุ่นสร้างมาให้ชาวเราเสียเงินกันอีกเพียบ ทั้งช็อกโกแลต ลูกอม หรือขนมหวานประเภทอื่นๆครับ ใครมีโอกาสไปญี่ปุ่นช่วงซากุระบานก็ลองหาทานดูนะครับ ถือว่าเป็นประสบการณ์การท่องเที่ยวไงล่ะครับ

ที่มา https://www.ilovejapantours.com/th/blog/9-sakura-tips