เรื่องต้องรู้หากจะคบคนญี่ปุ่นเป็นแฟน


1289 Views

  อังคารที่ 12 มกราคม 2564

เดือนแห่งความรักในเมืองไทย ลำพังอากาศก็ร้อนแทบแย่ ยังมีกระแสการเมืองมาเสริมความระอุอีก พาให้เหงื่อไหลใจสั่นไปตาม ๆ กัน แต่ในญี่ปุ่นเดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนที่หนาวที่สุด และการเมืองช่วงนี้ไม่ได้มีความร้อนแรงจนเป็นข่าวใหญ่เหมือนของไทย ความอบอุ่นที่พอจะมีบ้างคงเป็นเรื่องทางใจที่อวลไปด้วยบรรยากาศความรัก อันได้แรงส่งจากความคึกคักของเหล่าร้านค้าที่นำช็อกโกแลตวาเลนไทน์ออกมาจัดวางสลอน หรือทัศนียภาพที่คู่รักพากันจูงมือไปเที่ยวสถานที่โรแมนติกอย่างโตเกียวทาวเวอร์ ท่ามกลางสภาพแบบนี้จึงขอนำบางแง่มุมด้านความรักของคนญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟัง คือ ขั้นตอนสำคัญของการคบคนญี่ปุ่นเป็นแฟน และสภาพทั่วไปของการแต่งงานในปัจจุบัน

การสร้างความสัมพันธ์ฉันคู่รักก่อนจะถึงขั้นแต่งงานนั้น มองอีกแง่หนึ่งคือการลองผิดลองถูก ถ้าลองถูกก็ยาวไป แต่ถ้าลองผิดก็ต้องปรับหรือเลิก สำหรับคนญี่ปุ่น หากลองถูกถึงขั้นจะตกลงใจคบเป็นแฟน อาจมีบางจุดที่แตกต่างจากคนในหลายประเทศ และเมื่อคนญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กับคนต่างวัฒนธรรม จุดนั้นก็อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา ข้อที่ว่านี้คือ การประกาศอย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์ด้วยคำพูด
โดยทั่วไปคนญี่ปุ่นมักถูกมองว่าชอบเก็บความรู้สึก พูดอะไรอ้อมค้อม หรือตีความยาก (เพราะเชื่อว่าการสื่อตรง ๆ อาจกระแทกใจเกินไป) แนวโน้มดูเหมือนเป็นเช่นนั้นจริง แต่ไม่ใช่ว่าคนญี่ปุ่นชอบความคลุมเครือในทุกสถานการณ์ นอกจากเรื่องงาน คนญี่ปุ่นต้องการความชัดเจนเรื่องความรัก เมื่อคนสองคนพัฒนาความสัมพันธ์ไปในแนวคู่รัก แต่ยังไม่ได้บอกอีกฝ่ายด้วยคำพูด สองคนนั้นจะยังไม่ใช่แฟนกันแม้การกระทำทุกอย่างส่อไปทางนั้นก็ตาม

แนวโน้มของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ คือ ถ้าจะคบใครเป็นคู่รักจะขออย่างเป็นกิจจะลักษณะ คือ 1) สารภาพว่า “ชอบ” แต่แค่นั้นไม่พอ จะต้องต่อไปถึง 2) ขอเป็นแฟนโดยบอกว่า “เรามาคบกันไหม” หรือ “ขอเป็นแฟนได้ไหม” หรืออะไรทำนองนั้น ถ้าอีกฝ่ายตอบรับ เป็นอันว่าเริ่มสานความสัมพันธ์ในฐานะแฟนกันจริง ๆ ได้ การไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อย ๆ และสนิทกันมากขึ้นโดยธรรมชาติจนดูเหมือนเป็นแฟนอย่างที่คนไทยคุ้นเคยไม่ใช่หลักประกันความสัมพันธ์ ในกรณีของคนตะวันตก ขั้นตอนการสารภาพรักมักถูกข้ามไป โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองคนจะพัฒนาผ่านการพูดคุย ชวนไปเที่ยวกันบ่อย ๆ แล้วต่างฝ่ายต่างยอมรับโดยปริยายว่าใช่แล้ว เราเป็นแฟนกัน แต่ของญี่ปุ่นไม่ใช่ ต้องพูด!

ในเรื่องความรัก คนญี่ปุ่นกลัวการถูกปฏิเสธน้อยกว่า เพราะคิดว่าการสารภาพรักคือขั้นตอนที่ต้องทำอยู่แล้ว คืออาจจะอายน้อยกว่าคนชาติอื่นเพราะมองว่าเป็นเรื่องปกติ ผลที่เห็นอยู่ตรงหน้ามี 3 อย่าง คือ 1) ตอบรับ, 2) ปฏิเสธ, 3) ขอคิดดูก่อน ถ้าพลาดคนนี้ อาจจะเจ็บ แต่เดี๋ยวสารภาพกับคนต่อไปก็ได้ ในการสารภาพรัก แน่นอนว่ามีกรณีที่เดาใจของอีกฝ่ายผิดและอาจถูกปฏิเสธ ความสัมพันธ์หลังการถูกปฏิเสธนั้นแล้วแต่คน บางคนเป็นเพื่อนกันต่อไป บางคนทำตัวห่างเหิน กรณีแบบนี้มีมาให้ผมได้ยินเป็นประจำ ทั้งในหมู่เพื่อนของตัวเองและนักศึกษาลูกศิษย์ (ก็แปลกดี มีลูกศิษย์ลูกหามาปรึกษาทั้งเรื่องเรียนและเรื่องรัก)

เรื่องการสารภาพรักและขอคบ ถ้าคนญี่ปุ่นด้วยกัน ต่างฝ่ายต่างรับรู้ขั้นตอน คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าคนญี่ปุ่นคบกับคนต่างชาติ เป็นไปได้สูงว่าแต่ละฝ่ายจะยึดครรลองของตัวเอง เมื่อนั้นปัญหาด้านความมั่นคงทางใจหรือความเข้าใจผิดจะเริ่มเกิด เช่น ฝ่ายหญิงญี่ปุ่นย่อมคิดว่า ถ้าแฟนอเมริกันของตนรักกันจริงควรจะมาขอเป็นแฟนกันตรง ๆ ส่วนฝ่ายชายอเมริกันไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องพูด (เพราะไม่รู้ว่าควรจะพูด) ฝ่ายหญิงจะรู้สึกไม่มั่นคงบ้าง งอนบ้าง หรือเลยไปถึงการคบซ้อนเพราะยังถือว่าไม่ได้มีข้อผูกมัดกับใคร หรือถ้าฝ่ายหญิงกล้าหาญพอ อาจจะถามเพื่อยืนยันเสียเอง ถ้าแบบนี้ก็แล้วไป
นอกจากนี้ จุดที่คนญี่ปุ่นไม่เหมือนกับตะวันตก แต่เหมือนกับคนไทย คือ การแนะนำแฟนให้ผู้ใหญ่ในครอบครัวรู้จักถือเป็นการบ่งบอกความจริงจังของความสัมพันธ์ หมายความว่า ถ้าแนะนำใครก็ค่อนข้างแน่ใจว่าจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนผู้นี้ในอนาคต แต่ในอเมริกา การพาแฟนไปแนะนำให้รู้จักพ่อแม่หรือเพื่อน ๆ เป็นสิ่งที่ทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ได้ส่อนัยหนัก ๆ หรือจริงจังถึงเรื่องการคิดจะแต่งงานเสมอไป

มาถึงเรื่องการแต่งงาน ตอนนี้คนญี่ปุ่นแต่งงานน้อยลง และคนที่แต่งก็แต่งตอนอายุมากขึ้นกว่าในอดีต อายุเฉลี่ยการแต่งงานของผู้ชายญี่ปุ่น (2560) คือ 33.4 ปี และหญิง 31.1 ปี ส่วนจำนวนคู่แต่งงาน ญี่ปุ่นนับแบบรายปีต่อประชากร 1,000 คนจากจำนวนการจดทะเบียนสมรส พบว่ามีแนวโน้มลดลง จากปี 2515 มีคนแต่งงาน 10.4 คู่/1,000 คน เมื่อนับทั้งประเทศคือประมาณ 1.1 ล้านคู่ และลดฮวบลงมาจนกระทั่งในปี 2560 มีเพียง 4.9 คู่/1,000 คน และจำนวนการแต่งงานระหว่างคนญี่ปุ่น (ส่วนใหญ่ผู้หญิง) กับคนต่างชาติเคยสูงสุดเมื่อปี 2549 คือประมาณ 8% และลดลงมาจนอยู่ในระดับนิ่ง ๆ ที่ประมาณ 4% หลายปีแล้วตั้งแต่ 2556 ถึง 2560 ส่วนผู้ที่ไม่แต่งงานตลอดชีวิต (2558) ชาย 23.4% หญิง 14% ซึ่งทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาประชากรลดลง

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแต่งงานของคนญี่ปุ่นคือ ในปี 2560 จังหวัดที่มีคนแต่งงานเป็นอัตราสูงสุดคือ โตเกียว 6.4 คู่/1,000 คน และมีแนวโน้มว่าในเมืองใหญ่มีอัตราการแต่งงานสูงกว่าเมืองเล็ก ด้วยเหตุผลที่ว่าเมืองใหญ่มีพลังทางเศรษฐกิจสูงกว่าและมีโอกาสพบปะผู้คนมากกว่า ห้าอับดับแรกที่มีอัตราสูงสุดจึงได้แก่ โตเกียว (6.4), โอกินาวะ (5.7), ไอจิ (5.5; เมืองนาโงยะอยู่ในจังหวัดนี้), โอซากะ (5.3) และคานางาวะ (5.1; เมืองโยโกฮามะอยู่ในจังหวัดนี้)
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ใน 5 อันดับนี้ โอกินาวะติดอันดับ 2 ทั้ง ๆ ที่มีประชากรไม่มาก ว่ากันว่าคนโอกินาวะซึ่งอยู่ทางใต้สุดของประเทศและอยู่ในแถบภูมิอากาศที่อบอุ่นกว่าเกาะใหญ่หลัก ๆ ของญี่ปุ่น อยู่กับสายลมแสงแดด มีอุปนิสัยเข้ากับคนได้ง่าย อัตราการแต่งงานจึงสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ และว่ากันอีกว่า ด้วยลักษณะนิสัยสบาย ๆ จะยังไงก็ช่าง เดี๋ยวอะไร ๆ ก็ดีเอง จังหวัดนี้จึงมีอัตราการหย่าร้างสูงสุดในประเทศ คือ 2.44 คู่/1,000 คน (ส่วนอัตราหย่าร้างของโตเกียวคือ 1.74 อยู่ในอันดับ 9)

ในด้านครอบครัว การแต่งงานมีนัยที่แคบลงกว่าสมัยก่อนมาก สมัยนี้ผู้หญิงพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ความจำเป็นที่จะต้องมีครอบครัวด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจลดลง ทางเลือกในการดำรงชีวิตมีมากขึ้นทั้งสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย อีกทั้งการแต่งงานก็ไม่ได้รับประกันความสุขในชีวิตเสมอไป หลายคนคิดว่าการอยู่ตัวคนเดียวสนุกกว่า ลักษณะของครัวเรือนญี่ปุ่นในปัจจุบันจึงเป็นแบบตัวคนเดียวมากขึ้น ส่วนโครงสร้างครอบครัวญี่ปุ่นตอนนี้มักเป็นครอบครัวเดี่ยว ครอบครัวขยายยังพอมีอยู่โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ในกรุงโตเกียว ตระกูลฐานะดีที่คงความเป็นครอบครัวขยายไว้มีอยู่ประปราย

ลักษณะอย่างหนึ่งในครอบครัวญี่ปุ่นซึ่งพบเห็นได้บ่อย ๆ คือ ถ้าฝ่ายชายเป็นลูกชายคนโต ฝ่ายหญิงจะแต่งเข้าและอยู่ร่วมชายคาเดียวกันกับแม่สามี และมักเกิดปัญหาแม่ผัวลูกสะใภ้ไม่ต่างจากสังคมไทย ครั้งหนึ่งหญิงญี่ปุ่นวัย 50 กว่าปีถามผมว่าสังคมไทยมีปัญหานี้ไหม ผมได้ยินทีแรกแทบจะหัวเราะเพราะเคยคิดว่าประเด็นนี้คงมีแต่ในสังคมไทยหรือในละคร ที่ไหนได้ ดูเหมือนเรื่องนี้มีความเป็นสากล เพราะหลังจากนั้นผู้หญิงญี่ปุ่นอีกอย่างน้อย 3 คนยืนยันว่าในสังคมญี่ปุ่นก็มี และที่ไหน ๆ ก็คงไม่ต่างกัน อันนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่ามันคงไม่ใช่ปัญหาระดับเชื้อชาติ แต่อาจเป็นปัญหามนุษยชาติ

ที่มา https://mgronline.com/japan/detail/9620000014783